Featured, เรื่องของต้นไม้

คีเปล ผลไม้ที่ทานแล้วตัวหอม

17 April, 2022
การปลูกต้นคีเปล ผลไม้กินแล้วตัวหอม | ฟาร์มรักนะเออ | Farmraknaeer

คีเปล ผลไม้แปลกจากอินโดนีเซีย ที่มีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยนานหลายปีแล้ว ซุ่มปลูกกันในกลุ่มเล็ก ๆ เช่น กลุ่มผู้นิยมไม้แปลก และฟาร์มที่มองเห็นช่องทางการค้า และด้วยการเจริญเติบโตที่ช้า จึงทำให้มีราคาที่ค่อนข้างสูง ทั้งต้นพันธุ์เองและผลผลิต ตัวผมเองรู้จักคีเปลตั้งแต่สมัยที่เคยไปทำรายการสารคดีที่อินโดนีเซีย 20 ปีก่อน เคยได้มีโอกาสลองชิม แต่ก็จำไม่ได้แล้วว่า กลิ่นตัวตอนนั้นหอมหรือไม่

สำหรับท่านที่สนใจปลูกเลี้ยงต้นคีเปล ปัจจุบัน สามารถหาผู้ขายได้ตามร้านค้าออนไลน์ทั่วไปเลยครับ มีทั้งแบบเมล็ดพันธุ์มีรากงอก และต้นกล้าขนาดต่าง ๆ ตั้งแต่ 10 ซม. ไปจนถึงขนาดใหญ่ ท่านที่สนใจจะปลูกเลี้ยงไว้ทานเองที่บ้าน ผมขอแนะนำว่า ให้หาต้นกล้ามาปลูกกันเลยจะดีกว่า ส่วนจะเป็นต้นขนาดไหนก็แล้วแต่งบประมาณที่มีเลยครับ ต้นเล็ก ๆ เริ่มต้นแค่หลักร้อยกว่าบาท ไม่ถึง 200 บาทก็มี ไปจนหลักพัน จะเป็นการประหยัดเวลาได้เป็นอย่างมาก เพราะถ้าปลูกด้วยเมล็ดของเขาแล้วนั้น กว่าจะงอกใบอ่อนคู่แรกออกมาก็เป็นปีแล้วครับ เลี้ยงดูต้นกล้าอีก 6-12 เดือน ถึงจะได้ลงดินปลูกกันจริง ๆ ได้ แล้วกว่าเขาจะออกดอกออกผลอีก ซึ่งตามธรรมชาติของเขาแล้ว ก็ใช้เวลาอีก 7-8 ปีเลยทีเดียว แต่ถ้ามีการดูแลเขาดี ๆ ในดินมีแร่ธาตุเพียงพอ เลี้ยงให้เขามีขนาดลำต้นที่ใหญ่ได้เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15 ซม. เขาก็สามารถออกดอกออกผลได้แล้วครับ มีบางท่านปลูกเลี้ยง 3 ปี ออกดอกแล้วก็มี แต่จะติดเป็นผลหรือไม่นั้น ผมเองก็ไม่มีข้อมูลในส่วนนี้เลยครับ

คีเปล สามารถปลูกได้ทั่วประเทศไทย ในทุกสภาพดิน ยกเว้นในดินชื้นแฉะอย่างเดียวที่เขาไม่ชอบ ไม่ต้องห่วงเรื่องแมลงรบกวน ไม่ต้องใส่ปุ๋ยบำรุงใด ๆ รดน้ำเขาแค่วันละครั้งก็เพียงพอแล้ว ยิ่งเมื่อลำต้นของเขามีขนาดได้สักข้อมือ ก็สามารถปล่อยให้เทวดาเลี้ยงแทนได้เลย

ต้นคีเปล สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งการเพาะเมล็ด (ที่ช้ามาก) ตอนกิ่ง หรือทำการขยายพันธุ์ด้วยราก ก็จะเร็วขึ้นมากครับ

ชื่อสามัญ Kepel
ชื่อวิทยาศาสตร์ Steleshocarpus Burahol (Blume) Hook. F-Thoms (Annon)
ชื่อวงศ์ ANNONACEAE

คีเปล เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ จัดเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์เดียวกันกับกระดังงา มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ในสมัยโบราณ ต้นไม้ชนิดนี้จะปลูกได้เฉพาะในพระราชวังเท่านั้น บุคคลทั่วไปห้ามปลูกโดยเด็ดขาด ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะให้มเหสีหรือนางสนมรับประทานผลของคีเปล เพื่อให้มีกลิ่นกายหอม นับได้ว่าเป็นพรรณไม้ที่แปลกและหายากอีกชนิดหนึ่ง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น
ลำต้นมีความสูงตั้งแต่ประมาณ 10-21 เมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 40 ซม. เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาล เรียบ แตกกิ่งก้านสาขามากมาย

ใบ
มีลักษณะเป็นรูปรี โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบมีสีเขียวเป็นมัน มีขนาดความกว้างประมาณ 3-5 ซม. ยาวประมาณ 6-8 ซม. ใบที่ยังอ่อนอยู่จะมีสีแดงอมชมพู ออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกันที่ปลายกิ่ง

ดอก
ออกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบและกิ่งก้าน ในแต่ละช่อประกอบไปด้วยดอกย่อยสีเหลืองขนาดเล็กจำนวนหลายดอก มีกลีบดอกและกลีบเลี้ยงอย่างละ 4 กลีบ มีเกสรรวมกันเป็นกระจุกอยู่บริเวณกลางดอก ให้ดอกได้ประมาณปีละ 2 ครั้ง เมื่อดอกบานจะส่งกลิ่นหอมแรงไปตลอดทั้งวัน

ผล
มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมขนาดใหญ่เท่ากำมือ ติดผลบริเวณลำต้นเป็นจำนวนมาก ผลอ่อนมีสีน้ำตาลผิวหยาบ ต่อมาจะกลายเป็นสีขาวอมเหลืองผิวเรียบ และเมื่อแก่จัดจะมีสีน้ำตาลเข้ม ก้านผลยาวห้อยลงมา เนื้อภายในผลมีสีเหลืองฉ่ำน้ำ รสหวานและหอมมาก หลังจากติดดอกมาได้ประมาณ 3-4 เดือน ก็จะเริ่มให้ผล ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม และในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม การติดผลในช่วงแรกจะดกกว่าในช่วงที่สอง

เมล็ด
มีลักษณะเป็นรูปไข่ขนาดใหญ่สีน้ำตาลเข้มอมดำ เปลือกเมล็ดแข็ง ในแต่ละผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 3-6 เมล็ด

การขยายพันธุ์
ทำได้ด้วยการเพาะเมล็ด หรือการตอนกิ่ง คีเปลเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในดินที่อุดมสมบูรณ์และมีความชุ่มชื้น หรือในร่มเงา ก่อนนำเมล็ดไปเพาะในกระถางหรือภาชนะอื่นๆ ควรใช้ตะไบขัดให้เปลือกเมล็ดแตกออกก่อน เพื่อเร่งการงอกให้ดียิ่งขึ้น เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปีครึ่ง จึงค่อยทำการย้ายปลูกได้

ประโยชน์
ผลมีรสหวาน กลิ่นหอม เมื่อรับประทานเข้าไปจะทำให้เหงื่อและกลิ่นตัวหอมสดชื่น และยังมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยให้ถ่ายปัสสาวะได้คล่องไม่ติดขัด สิ่งที่ถูกขับถ่ายออกมาจากร่างกายไม่มีกลิ่นแรงจนเกินไป และยังสามารถปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารบ้านเรือนได้ เนื่องจากมีใบอ่อนสีแดงอมชมพูสวยงาม แถมยังให้ดอกสีเหลืองงดงามส่งกลิ่นหอมแรงไปตลอดทั้งวัน เมื่อให้ผลก็ใช้รับประทานได้ด้วย จึงควรอนุรักษ์ต้นไม้หายากและมีประโยชน์ชนิดนี้ไว้ เพื่อไม่ให้สูญพันธุ์

ที่มา อุทยานการอาชีพชัยพัฒนา 

You Might Also Like

No Comments

Leave a Reply